กัญชง ไม่ใช่ กัญชา ความเหมือนที่แตกต่าง

1008 Views  | 

กัญชง ไม่ใช่ กัญชา ความเหมือนที่แตกต่าง

กัญชา และ กัญชง ซึ่งได้มีกระแสในโลกออนไลน์กับการนำมาใช้ในวงการแพทย์กันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังมีอีกหลายๆ คนนั้นที่อาจจะไม่เคยรู้จัก “กัญชง” ซึ่งนี่นั้นเป็นพืชที่ชื่อ และลักษณะของต้นที่คล้ายกัญชา อย่างกับพี่น้องฝาแฝดเลยก็ว่ากันได้ แต่แม้ว่าลักษณะภายนอกจะคล้ายกันมากแค่ไหนก็ตามแต่ แต่ว่าคุณสมบัติ และ ประโยชน์ในการทำไปใช้รักษาโรคต่างกันเช่นเดียวกัน

ซึ่งนอกเหนือจาก “กัญชา” ที่เรานั้นคุ้นเคย และได้ยินกันอยู่ บ่อยๆ นั้น และในพักหลังๆ นี้นั้นก็ยังมีคำว่า “กัญชง” เข้ามาแทรกเสริมเพิ่มเติมเข้ามาอีก และที่สำคัญนั้นในทางด้าน ของทางกฎหมายใหม่นั้นก็ได้มีการทำออกมาใหม่เพื่อที่จะแยกความแตกต่างระหว่างพืชทั้งสองชนิดนี้นั้นออกจากกันนั่นเอง 

หลายคนอาจเคยได้ยินคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น แคนนาบิส (Cannabis) เฮมพ์ (Hemp) มาริฮวานา(Marijuana) หรือ ซีบีดี (CBD)  

แคนนาบิส (Cannabis) เป็นชื่อ “สกุล” (genus) ของพืชกัญชง-กัญชา สามสายพันธุ์ย่อย (species) ของแคนนาบิสที่พบบ่อย คือ Cannabis sativa, Cannabis indica และ Cannabis rudealis  สายพันธุ์ที่พบมากในไทยจะเป็นสายพันธุ์ Cannabis sativa ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ดีในลักษณะอากาศแบบร้อนชื้น กัญชงและกัญชาจัดเป็นพืชที่อยู่ในสกุล Cannabis  เหมือนกัน แต่ต่างกันที่สายพันธุ์ย่อย กัญชงจัดอยู่ในกลุ่ม Cannabis sativa ในขณะที่กัญชาอาจอยู่ในกลุ่ม indica หรือ sativa ก็ได้

กัญชงในภาษาอังกฤษเรียกกันว่า “เฮมพ์” (Hemp) ส่วนกัญชาในภาษาอังกฤษคือคำว่า “มาริฮวานา” (Marijuana)

CBD เป็นตัวย่อที่ใช้เรียกสารแคนนาบินอยด์ (Cannabidiol) ซึ่งเป็นสารที่พบได้ทั้งในกัญชงและกัญชา นอกจากสาร CBD แล้ว พืชทั้ง 2 ชนิด มีสารที่เรียกว่าเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol หรือ THC) อีกด้วย

เพราะเป็นพืชในสกุลเดียวกัน กัญชงและกัญชาจึงมีความคล้ายคลึงกันมากและอาจมองแยกออกจากกันได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นกัญชงและกัญชายังเล็ก ดอกและเมล็ดมีสีสันและลวดลายแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่พืชทั้งสองชนิดก็มีความแตกต่างที่สำคัญอยู่หลายประการ  

ลักษณะทางกายภาพ

กัญชง (Hemp) โดยทั่วไปต้นมีลักษณะสูงใหญ่กว่าต้นกัญชา ลำต้นสูงประมาณ 2 เมตรขึ้นไป กิ่งกระจัดกระจายไม่เกาะกลุ่ม ใบของกัญชงจะมีขนาดใหญ่กว่า มีการเรียงสลับของใบค่อนข้างห่างชัดเจน ใบมีสีเขียวอมเหลือง ไม่มียางเหนียวติดมือ  กัญชงปลูกได้ง่ายในหลากหลายสภาพภูมิอากาศ ไม่ต้องดูแลมาก ระยะเวลาของการโตเต็มวัยประมาณ 108-120 วัน

กัญชา (Marijuana) มีลักษณะลำต้นสูงไม่ถึง 2 เมตร ต้นเตี้ย มีกิ่งเกาะกันเป็นพุ่ม ใบของกัญชาจะเล็กกว่าใบของกัญชงเล็กน้อย ใบมีลักษณะแคบ ยาว การเรียงตัวของใบจะชิดกัน โดยเฉพาะใบประดับช่อดอกจะเป็นกลุ่มแน่นชัดเจน มักมียางเหนียวติดมือ ใบมีสีเขียวจัด กัญชาเป็นพืชที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดและควรมีการควบคุมอุณหภูมิให้มีสภาพอุ่นและชื้น ระยะเวลาการโตเต็มวัยประมาณ 60-90 วัน

สารประกอบเคมี

สารประกอบเคมีในกัญชงและกัญชา 2 ชนิดที่โดดเด่นได้แก่ สาร Tetrahydrocannabinol (THC) และสาร Cannabidiol (CBD)

งานวิจัยหลายงานพบว่า สารทั้ง 2 ชนิดมีประโยชน์หากนำมาใช้ให้ถูกต้อง แต่สาร THC นั้นทำให้เกิดอาการเมา (high) หรือมีฤทธิ์ต่อประสาท (psychoactive) ด้วย ในเวทีสากลเป็นที่ยอมรับกันว่า พืชที่ให้ปริมาณสาร THC น้อยกว่า 0.3% ไม่ถือว่าเป็นพืชเสพติด  ในขณะที่สาร CBD ไม่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าว

• สาร Tetrahydrocannabinol (THC)

กัญชง (Hemp) มีสาร THC ไม่เกิน 0.3% ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการเมาหรือมีฤทธิ์ต่อประสาท ในขณะที่ กัญชา (Marijuana) ส่วนใหญ่มีสาร THC ประมาณ 5-20% กัญชาที่คุณภาพสูงมีสาร THC สูงถึง 25-30% จึงทำให้กัญชามีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการเมา และถือเป็นสารเสพติด สาร THC ส่งผลต่อร่างกาย อาทิ

เปลี่ยนแปลงประสาทสัมผัส (การมองเห็น การได้กลิ่น การได้ยิน) เช่น เห็นสีสดขึ้น
เปลี่ยนแปลงการรับรู้ด้านเวลา
เปลี่ยนแปลงสภาพอารมณ์ให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย
ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย
ทำให้เกิดความรู้สึกหิว
ก่อให้เกิดภาพหลอนหรือภาพลวงตาเมื่อใช้ในปริมาณมาก
เมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน จะส่งผลต่อการทำลายระบบความจำ การคิด การเรียนรู้
อย่างไรก็ดี การศึกษาวิจัยทางการแพทย์พบว่า สาร THC อาจสามารถนำมาช่วยรักษาอาการและโรคต่าง ๆ เช่น ลดอาการข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด โรคปลอกหุ้มเส้นประสาทอักเสบ เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ลดอาการปวดแบบเรื้อรัง ช่วยในเรื่องระบบย่อยอาหาร ลดอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง เป็นต้น

• สาร Cannabidiol (CBD)

กัญชง (Hemp) มีสาร CBD ในปริมาณที่มากกว่า กัญชา (Marijuana) สาร CBD เป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์ต่อประสาท นั้นหมายความว่าจะไม่ทำให้เกิดอาการมึนเมาได้

งานวิจัยในตอนนี้พบว่า สาร CBD อาจจะสามารถนำมาช่วยรักษาอาการและโรคต่าง ๆ อาทิ อาการปวดกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวช้า การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อลำบาก โรคไขข้ออักเสบ โรคลมชัก ลมบ้าหมู โรคปลอกหุ้มเส้นประสาทอักเสบ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคพาร์กินสัน ลดการอักเสบ สิว โรควัวบ้า ลดอาการซึมเศร้า ลดอาการวิตกกังวล ลดอาการสมาธิสั้น ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และโรคลำไส้แปรปรวน

เพราะกัญชงมีสาร THC ในปริมาณไม่มาก สารประกอบที่สกัดได้จากกัญชงจึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท สาร CBD ที่สกัดจากกัญชง (Hemp-derived CBD) จึงกลายเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ตั้งแต่น้ำมัน อาหาร เครื่องดื่ม ไปจนถึงเครื่องสำอาง และกำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: 
สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี., มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์, cbdorigin.com

Powered by MakeWebEasy.com